ส่งออก มิถุนายน 2567 ติดลบ 0.3% ครึ่งปีแรกยังบวกได้ถึง 2%... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-161

26 กรกฎาคม 2567
ส่งออก มิถุนายน 2567 ติดลบ 0.3% ครึ่งปีแรกยังบวกได้ถึง 2%... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-161
สนค. เผยตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย. 2567 ติดลบเพียง 0.3% เท่านั้น เหตุผลไม้ตะวันออกหมดฤดู การขนส่งทางเรือล่าช้า ขณะที่ครึ่งปีแรกยังบวก 2% มูลค่ากว่า 145,290.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยบวก เชื่อยังโตได้ 1-2% จับตากำลังซื้อประเทศคู่ค้ากำลังฟื้นตัวส่งผลดีต่อไทย มองเลือกตั้งสหรัฐมีทั้งดีและเสีย หวั่นกำแพงภาษี แต่ความตึงเครียดสงครามลดลง

วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (892,766 ล้านบาท) ติดลบ 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เป็นผลมาจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล และผลกระทบด้วยจากเอลนีโญทำให้การส่งออกทุเรียนลดลง และในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ต้องประสบกับปัญหาการเดินเรือที่ติดขัดเล็กน้อย ทำให้การส่งมอบสินค้าให้คู่ค้าล่าช้า โดยการนำเข้ามีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.3% ดุลการค้าเกินดุล 218.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 3.3% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน สินค้าที่หดตัว
คือ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง แต่ทั้งนี้กลับมีสินค้าที่กลับมาขยายตัว เช่นข้าวขยายตัว 96.6% เช่นเดียวกันกับยางพาราขยายตัว 28.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน ไก่แปรรูปขยายตัว 4% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 3.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ผลไม้กระป๋องและแปรรูปขยายตัว 6% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ขยายตัว 147.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน

ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวคือ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้า เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ แต่ก็มีในส่วนที่ขยายตัวคือรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

อย่างไรก็ตาม 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) ยังมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 145,290.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,191,014 ล้านบาท) ขยายตัว 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมในครึ่งปีแรกกลุ่มสินค้าเกษตรที่ยังส่งออกเป็นบวกยังคงเป็นข้าว บวกถึง 48.1% ยางพาราบวก 30.6% ไก่แปรรูปบวก 6.2% ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ติดลบถึง 16.4% และผลไม้สด แช่เย็น แช่เเข็ง และแห้งที่ติดลบ 6%

สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม-ธันวาคม 2567) ยังมีปัจจัยบวกหลายส่วน หากประเมินทั้งปี 2567 ส่งออกยังสามารถโตได้ 1-2% หากโตที่ 1% ค่าเฉลี่ยมูลค่าจะอยู่ที่ 23,297 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากโตที่ 2% ค่าเฉลี่ยมูลค่าจะอยู่ที่ 24,248 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ปี 2567 จะเป็นปีที่ประเทศไทยส่งออกไปสูงที่สุดหรือเกิน 10 ล้านล้านบาท

แม้จะเป็นการส่งออกที่ไม่หวือหวา แต่ก็ไม่แย่ เพราะหากดูจากมูลค่าเฉลี่ยการส่งออกนับตั้งแต่ปี 2564-2566 (36 เดือน) มูลค่าจะอยู่ที่ 23,458 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มิถุนายน 2567 เพียงเดือนเดียวมีมูลค่าเฉลี่ยถึง 24,797 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ดังนั้น ในช่วงที่เหลืออีก 6 เดือนของปีนี้ จึงไม่ใช่เรื่องยากหากไม่มีเหตุการณ์อะไรเข้ามาเป็นปัจจัยลบระหว่างทาง

สำหรับปัจจัยครึ่งปีหลังที่ต้องจับตาคือเรื่องของกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า ในขณะที่ปัจจัยของค่าเงินบาทที่กำลังอ่อนค่ากลับจะเป็นแรงจูงใจให้คู่ค้าซื้อสินค้าของไทย และนั้นควรมองที่กำลังซื้อของคู่ค้าเป็นหลัก โดยมีปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทเป็นปัจจัยเสริม โดย IMF ได้คาดการณ์ตัวเลขของเศรษฐกิจประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างจีนและอินเดียว่า

ทั้ง 2 ประเทศนี้กำลังฟื้นตัว รวมถึงยุโรปด้วยเช่นกัน ดังนั้น ตลาดหลัก ๆ และตลาดใหม่ทั้งสหรัฐ ซาอุดีอาระเบีย ยังคงเป็นโอกาสของการส่งออกของประเทศไทยในบางสินค้า และอีกส่วนสำคัญคือตัวผู้ประกอบการเอง จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเช่นเพื่อให้ได้ใช้วิกฤตเปลี่ยนเป็นโอกาสให้ได้

ส่วนกรณีการเลือกตั้งในหลายประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบหรือส่งถึงความกังวลอะไร เนื่องจากยังต้องดูว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งหากเป็นฝั่งกมลา แฮร์ริส เชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจน่าจะยังคงเป็นเช่นเดิม และหากเป็นโดนัล ทรัมป์ อาจจะต้องจับตาดูเรื่องของกำแพงภาษี แต่อาจจะมีความคลี่คลายเรื่องของสงครามระหว่างประเทศลงก็เป็นได้

“ส่งออกกลับมาหดตัวเล็กน้อย แต่ถ้าดูจริง ๆ ดุลการค้าไทยเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในช่วงครึ่งปีแรกไทยยังต้องเจอกับภาวะการค้าโลกที่เริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างการเปลี่ยนผ่านจากรถสันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาปหดตัวลงอย่างชัดเจน

ภาพรวมการส่งออกไทยหดตัวเล็กน้อยตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่การส่งออกไปหลายตลาดสำคัญยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐ CLMV ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้หารือเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเพื่อขยายโอกาสทางการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยขอให้ญี่ปุ่นเพิ่มรายการนำเข้าสินค้ากล้วยหอมทอง และลดภาษีน้ำตาลทราย และยังได้ชักชวนนักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ และพลังงานสะอาด มาลงทุนในไทยและในพื้นที่ EEC

รวมถึงการนำผู้ประกอบการข้าวไทยเดินทางเยือนจีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยกรมการค้าต่างประเทศนำสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเดินทางเยือนเมืองกว่างโจวเพื่อพบปะผู้นำเข้า และผู้ประกอบการค้าข้าวในจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการค้าข้าว พร้อมจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทย แสดงศักยภาพ ในฐานะผู้ส่งออกข้าวที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก และมีแผนที่จะใช้อินฟลูเอนเซอร์ และบล็อกเกอร์ มาช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางยอดนิยมของกลุ่มคนวัยรุ่นจีนอย่าง TikTok หรือ WeChat Channel ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศการค้าในครึ่งปีหลังได้มาก
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.